The Fair Game … ศึกที่ดีไม่ควรมี “สิ่งต้องห้าม” (Part 1)

ขึ้นชื่อว่า “การแข่งขัน” สำหรับกีฬาทุกประเภท สิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกันก็คือ “ชัยชนะ” อันเป็นเป้าหมายสูงสุด ภายใต้ “กฎ และกติกา” ที่ต้องผู้เข้าแข่งขันต้องทำการ “เคารพ” เพื่อให้เกิดความ “เท่าเทียม” โดยชอบธรรม … และ “มอเตอร์สปอร์ต” ก็ถือได้ว่าเป็นกีฬาที่มีความเข้มงวดของ “กฎ และกติกา” ในระดับสูง ทั้งยังไม่ได้กำหนดมาเพื่อ “อุปกรณ์” เท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมในส่วนของ “นักกีฬา” ด้วยเช่นกัน
เพราะนอกจาก “อุปกรณ์” ที่เป็นตัวกำหนดเรื่องความปลอดภัยแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญก็คือ “สารกระตุ้น” ที่มีคุณสมบัติในการยกระดับขีดความสามารถของนักกีฬาให้ “เหนือกว่าปกติ” เพื่อแข่งขัน และคว้าชัยชนะ จนมองข้ามสิ่งที่ต้องแลกมา ไม่ว่าจะเป็นอนาคต, ชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งชีวิตของตัวเองที่อาจถูกทำลายลงไปก็ตาม
ฉะนั้นในบทนี้ เราจึงขอนำเสนอ “สารต้องห้าม” และ “วิธีการต้องห้าม” ต่างๆ แห่งวงการกีฬา ที่มีผลข้างเคียงอันตรายต่อร่างกายว่ามีอะไรบ้าง โดยเริ่มจาก “สารต้องห้าม” ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มแรก “สารต้องห้าม ที่ห้ามใช้ตลอดเวลา” เช่น


– สารที่ยังไม่ผ่านการรับรอง (Non-Approved Substance)
– สารอนาบอลิก (Anabolic Agents) เป็นสารที่จะส่งผลต่อการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ ใช้ในกีฬาประเภทที่ต้องการพลังกล้ามเนื้อมาก ส่วนผลข้างเคียง คือ ทำให้อารมณ์แปรปรวน, ฉุนเฉียว และสร้างอันตรายต่อร่างกาย เช่น มะเร็งตับ, ตับแข็ง, โรคหัวใจ ตลอดจนสมรรถภาพทางเพศ
– สารฮอร์โมนเปปไทด์ (Peptide Hormones) และฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต คือ สารที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมาได้ เช่น EPO (Erythropoietin) ที่ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง ส่วนผลข้างเคียงของการใช้ EPO ก็อาจทำให้เลือดมีความเข้มข้น และเหนียวขึ้น จนส่งผลให้หัวใจทำงานหนักในการพยายามสูบฉีด แล้วก็ยังมีผลข้างเคียงอื่นๆ ที่ตามมาเช่นกัน ทั้งการเจริญเติบโตไม่สมส่วนของหน้าผาก, คิ้ว, กะโหลก และกราม ขณะที่ส่วนของตับ, ต่อมไทรอยด์ และการมองเห็นถูกทำลาย ไปจนถึงทำให้หัวใจโต และนำไปสู่สภาวะหัวใจล้มเหลวได้
– สารเบต้า-ทู อโกนิสท์ (Beta-2 Agonists) เป็นสารกระตุ้นในรูปแบบยารักษาโรคหอบหืด หรือระบบทางเดินหายใจที่ใช้พ่นเข้าไปในลำคอ ซึ่งนักกีฬาที่มีประวัติป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ จะต้องผ่านการขออนุญาตใช้สารเพื่อรักษา และก็จะอนุญาตเป็นชนิดฉีดพ่นเข้าลำคอ แถมท้ายสุดแล้วก็ต้องอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินกำหนดเท่านั้น
– สารปรับเปลี่ยนฮอร์โมน และเมตาบอลิสมของร่างกาย (Hormone And Metabolic Modulators) โดยการใช้สารต้องห้ามกลุ่มนี้ จะส่งผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ
– ยาขับปัสสาวะ และสารปกปิดอื่นๆ (Diuretics And Masking Agent) เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ยาที่ใช้ควบคุมน้ำหนัก ด้วยการลดปริมาณน้ำในร่างกาย ส่วนใหญ่มักใช้ในกีฬาที่มีการแบ่งน้ำหนัก โดยผลข้างเคียงก็คือทำให้ร่างกายขับเกลือแร่มากขึ้นจนร่างกายขาดน้ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดตะคริวในกล้ามเนื้อ มีภาวะเพลียแดด และอาจทำให้หมดสติได้ เนื่องจากร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน

Start a Conversation

Your email address will not be published. Required fields are marked *